การใช้ ‘โซล่าเซลล์’ ควบคู่กับการทำเกษตรกรรมในโรงเรือน



การพัฒนาภายใต้แนวคิดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Thirteenth Five-Year Plan 2016-2020 on National Economic and Social Development) มุ่งเน้นนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

จะเห็นได้จากการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาสีเขียว(Green development) อย่างเป็นรูปธรรม คือ ลดความเข้มพลังงานหรือสัดส่วนการใช้พลังงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และลดความเข้มก๊าซคาร์บอนหรือสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อ GDP ลงร้อยละ 15 และร้อยละ 18 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2015

ปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักเพื่อการผลิตพลังงานบริโภคภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.2 ของการบริโภคพลังงานรวมโดยปี 2014 จีนมีบริโภคพลังงานขั้นต้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.26 ล้านตันของถ่านหินซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุด และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 ล้านตันในปี 2020 ทั้งนี้มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรที่ดีขึ้นสภาพความเป็นเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

และแรงกดดันด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emission) ในเวทีการประชุมระดับนานาชาติรวมถึงความถี่การเกิดภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากแก่ประเทศ ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวทำให้ประเทศจีนปรับนโยบายด้านพลังงานโดยอยู่บนหลักการ 2R คือ การทดแทนด้วยพลังงานรูปแบบอื่นๆ (Replace) การลดปริมาณการใช้พลังงาน (Reduce)

ในบทความนี้จะนำเสนอหลักการของนโยบายพลังงานเพียง R เดียว นั่นคือ Replace การทดแทนด้วยพลังงานรูปแบบอื่น ๆ สามารถดำเนินการในหลากหลายกลยุทธ์ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ(Clean technology) เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นำมาใช้สำหรับการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้การใช้วัตถุดิบ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลกระทบ ความเสี่ยงต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยการควบคุมมลพิษและของเสียที่แหล่งกำเนิดน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยดังนั้น หนึ่งในนโยบายสำคัญของแผนนี้ คือ รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นการสร้างความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจการผลิตแผงโซล่าเซลล์และกังหันลมในประเทศได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาสินค้าล้นตลาดทำให้ผู้ประกอบการจีนพยายามมองหาตลาดใหม่ๆ ที่จะเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจเพื่อต่อยอดการใช้งานในภาคธุรกิจอื่นมากขึ้นซึ่งธุรกิจเกษตรเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆของผู้ประกอบการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพราะพื้นที่และประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

แนวคิดการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา ร่วมกับการทำเกษตรกรรมในโรงเรือน (Greenhouse)

สามารถผลิตพลังงานได้ทั้งรูปแบบความร้อนและพลังงานไฟฟ้า ซึ่งรูปแบบการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าบนหลังคาโรงเรือนกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสาธารณรัฐประชาชนจีนจากข้อมูล สถานการณ์ตลาดแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าในภาคเกษตร (PV agricultural market) มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 200 โดยปี 2015 มีขยายตัวสูงถึงประมาณ 2.6 GW คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24.7 พันล้านหยวน หรือประมาณ 47.5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์และภายใต้การดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับล่าสุดที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนให้นำพลังงานทดแทน มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มมากขึ้นคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะส่งผลให้มีการขยายตัวของตลาดเพิ่มสูงขึ้นถึง7.8GW คิดเป็นมูลค่าประมาณ 370,000 ล้านบาทการขยายตัวของตลาดอุตสาหกรรมการผลิตแผงโซล่าเซลล์ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีนับเป็นโอกาสดีที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แผงโซล่าเซลล์ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นด้วยการค้นหาเทคโนโลยีใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานให้ใกล้เคียงกับพลังงานที่ผลิตได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นต้น.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น