1. แบตเตอรี่แบบแห้ง
ลักษณะทั่วไป
แบตเตอรี่ประเภทนี้ เป็นประเภทที่เกิดภายหลัง มีการพัฒนาเพื่อไม่ต้องเติมน้ำกลั่น จึงเรียกตามลักษณะให้ตรงข้ามกับแบบดั้งเดิม คือ แบตเตอรี่แห้ง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว แบตเตอรี่ประเภทนี้ ไม่ได้แห้งสนิทเพราะไม่มีของเหลวอะไรหล่อเลี้ยงเลย เพียงแต่เรียกขานให้ตรงข้ามกับแบบเติมน้ำกลั่นเท่านั้น แต่สภาพที่แท้จริงของแบตชนิดนี้ เมื่อนำมาใช้กับรถยนต์ก็ยังคงมีของเหลวอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นแบบตะกั่ว-กรดที่ใช้แคดเมี่ยมและตะกั่วในแผ่นเซลล์หรือพวกที่ใช้สารละลายอัลคาไลน์หรือที่รู้จักกันในชื่อ นิเกิล-แคด เมี่ยมนั่นเอง ปัจจุบันนี้ ของเหลวที่นิยมและใช้งานกันในแบตเตอรี่แบบแห้งอย่างแพร่หลายก็คือ แบบตะกั่ว-กรดเพราะมีราคาถูกกว่าของเหลวชนิดอื่น
แบตเตอรี่แบบแห้งนั้น เมื่อใช้ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น และจะไม่มีฝา ปิด-เปิด บางครั้งจะถูกซีลทับฝาติดกัน แต่สามารถเช็คระดับน้ำกรดและระดับไฟ อายุใช้งาน จากการรับประกันโดยมองผ่านตาแมวสำหรับตรวจเช็ค ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบของบริษัทผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อ
ข้อดีของแบตเตอรี่แห้ง
1. ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องคอยห่วงกังวลว่าจะลืม
2. เมื่อไม่ต้องคอยเช็คระดับน้ำกลั่น จึงสะดวกต่อการใช้งาน
3. สามารถปล่อยแบตเตอรี่ทิ้งไว้ในสภาพไม่มีไฟประจุได้นานกว่าแบตประเภทเติมน้ำกลั่น
4. โอกาสที่ปฎิกริยาทางเคมีภายในจะทำให้เกิดแก๊สมีน้อย ยิ่งเกิดแก๊สได้น้อยความเสี่ยงจากแก๊สก็มีน้อยไปในตัว
ข้อเสียของแบตเตอรี่แห้ง
ประการแรกเลยก็คือ แบตชนิดนี้มีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่แบบเติมน้ำกลั่น แบตชนิดนี้เป็นระบบปิด ที่มีรูระบายแบบทางเดียว และยังมีขนาดเล็ก จึงมีโอกาสอุดตันได้ง่าย ซึ่งถ้าเกิดอุดตันแล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหาแรงดันภายในหรือความร้อนมากโดยเฉพาะกับระบบประจุที่รุนแรงเนื่องจากเกิดปัญหาในระบบการประจุ ตามที่กล่าวแล้วว่า ในแบตเตอรี่แบบแห้งก็ยังมีแยกชนิดของของเหลว ซึ่งถ้าเป็นแบบที่ปิดผนึกชิดไม่ใช้อีเล็กโตรไลท์ หากซีลของช่องหายใจหลุด อาจเกิดการเสียหายขึ้นได้เนื่องจากมีความชื้นเข้าไปภายใน
2. แบตเตอรี่แบบน้ำ
ลักษณะทั่วไป
แบตเตอรี่ประเภทที่ต้องเติมน้ำกลั่นนี้ เป็นแบบที่ใช้กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก่อนที่จะมี การพัฒนาให้มีแบบแห้ง แต่ความนิยม โดยทั่วไปก็ยังคงนิยมใช้แบบนี้กันอยู่แบตเตอรี่ชนิดเติมน้ำกลั่นเป็นแบตเตอรี่ประเภทตะกั่วกรด มีสารละลายอิเล็กโตรไลท์เป็นของเหลว ทำให้ต้องมีการเติมน้ำกลั่น เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป
โดยโครงสร้างแล้ว แบตเตอรี่ชนิดนี้ก็ไม่ต่างจากแบตเตอรี่แบบแห้ง สิ่งที่ต่างก็เป็นเพียง แบตประเภทนี้จะใช้อีเล็กโตรไลท์หรือกรดซัลฟุริคเจือจางด้วยน้ำกลั่นบรรจุอยู่ เนื่องจากแบตเตอรี่ทั้งสองชนิดมีการใช้วัสดุที่มาทำแผ่นธาตุแตกต่างกัน
แบตเตอรี่ชนิดเติมน้ำกลั่น แบ่งเป็นประเภทได้อีก 2 แบบ คือ
2.1 แบตเตอรี่ที่ต้องเติมน้ำกลั่นบ่อยๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
2.2 แบบแบตเตอรี่กึ่งน้ำ ชนิดนี้จะกินน้ำกลั่นน้อยมาก สามารถเติมนานๆ ครั้งได้
หากทั้ง 2 แบบนี้ จะมีฝาปิด-เปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น และมีอายุการใช้งานประมาณ 1.5-3 ปี ส่วนจะใช้งานได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งาน ตลอดจนการดูแลรักษา ของผู้ใช้รถแต่ละคน ดูแลดี ใช้ถนอม ก็ทำให้อายุของแบตเตอรี่รถยนต์ยาวนานขึ้นเป็นธรรมดาของการใช้แบตรถให้คุ้มค่า
ข้อดีของแบตเตอรี่ชนิดเติมน้ำกลั่น
เมื่อเทียบกับ แบตเตอรี่ โซล่าเซลล์ ชนิดแห้ง นับว่าแบตชนิดเติมน้ำกลั่นราคาถูก มีความทนทานต่อการรับโหลดทั้งการประจุและคายประจุ
ข้อเสียของแบตเตอรี่ชนิดเติมน้ำกลั่น
เนื่องจากสารละลายภายในมีส่วนผสมของกรด หากมีการรั่วหรือหก ก็อาจทำลายสีของรถได้ แต่ก็สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจเช็คอย่าให้มีโอกาสเกิดเหตุนั้น ต้องคอยเช็คดูแลการประจุและต้องเติมน้ำกลั่นอยู่เสมอ เนื่องจากมีการระเหยหรือโอกาสที่จะรั่วหกได้