เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย

กฟผ. เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก
รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย

 

          กฟผ. เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน พร้อมเปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งใหม่ของภาคกลางตอนล่าง

        ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมพิธี

 

         ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักตลอดมา เพื่อสนองตอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ AEDP2015 ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดทำขึ้น ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กฟผ. ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานและในอนาคต กฟผ. จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาผลิตไฟฟ้าด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบผสมผสานโดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบ Hybrid และการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้นเพื่อสนองตอบนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 – 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่ โดย กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยี
แต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป นอกจากนี้ กฟผ. ได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก หรือ ศูนย์การเรียนรู้ “คิดดี” โดยออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงาน พื้นที่ประมาณ 1,700 ตารางเมตร โดยนำลักษณะอาคารพื้นถิ่นริมทะเลและเรือประมงมาประยุกต์ ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก สำหรับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงาน ภารกิจของ กฟผ. รวมทั้งประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าภูมิใจของชุมชนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานและชุมชนทับสะแกมากขึ้น โดยจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้อยู่ที่โรงภาพยนตร์ 4 มิติ และการนำเสนอข้อมูลความรู้ด้านพลังงานในรูปแบบของสวนสนุกซึ่งใช้ตัวการ์ตูนเป็นตัวแทนของพลังงานธรรมชาติที่จะสร้างความน่าสนใจและแรงบันดาลใจเชิงบวกให้กับผู้เข้าชม โดยเฉพาะนักเรียนและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และในโอกาสนี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CMO จำกัด มหาชน บริษัทคู่สัญญางานสื่อจัดแสดงในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก ได้มอบหนังสือมูลค่า 100,000 บาท ให้ กฟผ. นำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

 

       ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้ามาใช้มีหลายวิธี ซึ่ง กฟผ. ก็ได้คิดค้นและเลือกวิธีการผลิตที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ เช่น การมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทับสะแกนี้ ก็เป็นพลังงานสะอาด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และ กฟผ. ยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ที่จะได้รับความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้า โดย กฟผ. อาจมีหนังสือเชิญชวนไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีอยู่กว่า 200 โรงเรียน ให้มาชมศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมต่อไป โดยหาก กฟผ. จะสนับสนุนเรื่องการเดินทางมาเยี่ยมชมด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก

บริการของเรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น